นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาและคงไว้ซึ่งมาตรฐานระดับสูงของการกำกับดูแลกิจการที่ดีภายในองค์กร เพื่อให้การคุ้มครองและเสริมสร้างมูลค่าระยะยาวต่อผู้ถือหุ้น บริษัทฯ ได้นำวิธีปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงนโยบายซึ่งเป็นรูปแบบหลักการตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ได้ให้การสนับสนุนมาปฏิบัติและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องดังรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไป นอกจากนั้น บริษัทฯ ได้นำหลักจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (Code of Corporate Conduct) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ และมาตรฐานการปฏิบัติงานและการดำเนินงาน (Standard Operating Procedure) ประชาสัมพันธ์ ทั่วทั้งองค์กร และได้เผยแพร่นโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ เพื่อสร้างความเข้าใจและใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงานทุกระดับชั้น ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเรื่อยมา ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และ กฏข้อบังคับภายในใหม่ๆ ได้ถูกกำหนดขึ้นเพิ่มเติมตามความจำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีข้อบกพร่องภายใต้นโยบายต่างๆ

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้รับทราบและทบทวนการนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 ที่เผยแพร่โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาปรับใช้ในการกำกับดูแลกิจการ ในปี 2562 บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการซึ่งได้รับการพิจารณาเสนอแนะจากคณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ) และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้มีผลประกอบการที่ดีในระยะยาวและสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน โดยคณะกรรมการบริษัทฯ จะทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการเป็นประจำทุกปีเพื่อการปรับปรุงด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับหลักปฏิบัติที่ยังไม่ได้นำไปปรับใช้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายจัดการไปศึกษาในรายละเอียดเพื่อนำเสนอพิจารณาต่อไป

สิทธิของผู้ถือหุ้น

บริษัทฯ ให้ความสำคัญและเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 โดยได้ดำเนินการทุกอย่างสอดคล้องตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิของผู้ถือหุ้น ดังนี้

1.1 ผู้ถือหุ้นทุกรายมีสิทธิอยู่บนพื้นฐานเดียวกันในการออกเสียงลงคะแนนในการประชุมและในการรับเงินปันผลตามที่บริษัทฯ ได้ประกาศ โดยจำนวนเงินปันผลดังกล่าวคำนวณจากสัดส่วนการถือหุ้นที่มีในบริษัทฯ

1.2 ในการประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการอนุมัติในประเด็นที่สำคัญต่างๆ เช่น การเลือกตั้งกรรมการ (ผู้ถือหุ้นสามารถเลือกกรรมการได้เป็นรายบุคคล) ค่าตอบแทนกรรมการ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี และการจ่ายเงินปันผล เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นที่มาร่วมประชุมผู้ถือหุ้นภายหลังเริ่มการประชุมไปแล้ว ยังคงมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในวาระที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและยังมิได้ลงมติ

1.3 บริษัทฯ มีนโยบายอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นทุกกลุ่ม รวมทั้งผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนสถาบันได้เข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ อาทิเช่น การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอวาระการประชุมหรือส่งคำถามเกี่ยวกับบริษัทล่วงหน้าก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น การจัดส่งหนังสือนัดประชุมและเอกสารประกอบการประชุมเป็นภาษาอังกฤษให้กับผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติ การเลือกจัดการประชุมในสถานที่ที่สะดวกต่อผู้ถือหุ้นในการเดินทางมาประชุม เป็นต้น

1.4 บริษัทฯ ได้เชิญผู้ถือหุ้นรายย่อยเสนอระเบียบวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีเป็นการล่วงหน้า ผ่านช่องทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และเว็บไซต์ของบริษัทฯ (www.lagunaresorts.com) แต่ไม่มีผู้ถือหุ้นท่านใดเสนอระเบียบวาระ

บริษัทฯ เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายเดียวหรือหลายรายรวมกันที่ถือหุ้นของบริษัทฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทฯ มีสิทธิที่จะเสนอระเบียบวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นล่วงหน้าภายใน 30 วันก่อนวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี โดยคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการจะพิจารณากลั่นกรองเรื่องที่ผู้ถือหุ้นเสนอให้บรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมผู้ถือหุ้นและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการบริษัทฯเพื่อพิจารณา เรื่องที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทฯ จะบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ในกรณีเรื่องที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทฯ จะแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบพร้อมชี้แจงเหตุผลในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น

บริษัทฯ ได้จัดให้มีช่องทางให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถเสนอแนะ แสดงความคิดเห็น หรือแจ้งข้อร้องเรียนได้โดยจัดส่งต้นฉบับพร้อมแนบเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ลงลายมือชื่อแล้วไปยังเลขานุการบริษัทฯ ทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ของบริษัทฯ หรือ ทางโทรศัพท์ +66 2677 4455

1.5 บริษัทฯ ยังมิได้เชิญชวนให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการแต่งตั้งเป็นกรรมการของบริษัทฯ ก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น เนื่องจากบริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นทุกรายมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการแต่งตั้งเป็นกรรมการของบริษัทฯ (ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่พรบ.บริษัทมหาชนกำหนด) และจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนให้กับบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อดังกล่าวในที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเสมอ

1.6 บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะนายทะเบียนหุ้นของบริษัทฯ เป็นผู้จัดส่งเอกสารประกอบการประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งบรรจุหนังสือเชิญประชุมโดยได้ระบุวาระการประชุม พร้อมทั้งข้อเท็จจริงและเหตุผลและความเห็นของคณะกรรมการในแต่ละวาระ รวมถึงข้อมูลเอกสารประกอบวาระต่างๆ อาทิ ข้อมูลของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัทฯ ประวัติผู้สอบบัญชี ข้อบังคับของบริษัทฯ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผู้ถือหุ้น แผนที่สถานที่จัดประชุม รวมทั้งหนังสือมอบฉันทะ และเอกสารและหลักฐานแสดงสิทธิในการเข้าร่วมประชุม เป็นต้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 21 วัน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีความพร้อมในการเตรียมตัวสำหรับการประชุม นอกจากนั้น บริษัทฯ ได้ลงโฆษณาประชาสัมพันธ์หนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นในหน้าหนังสือพิมพ์ และได้เผยแพร่หนังสือเชิญประชุม เอกสารประกอบการประชุม และข้อมูลต่างๆ ในการประชุมทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ (www.lagunaresorts.com) เป็นการล่วงหน้าก่อนวันประชุมอย่างน้อย 30 วัน รวมทั้งได้เชิญชวนให้ผู้ถือหุ้นมาลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 1 ชั่วโมงเสมอ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้นำระบบบาร์โค้ด (barcode) มาใช้ในการลงทะเบียน และการนับคะแนนเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อความสะดวกรวดเร็ว โปร่งใส และถูกต้องแม่นยำ

1.7 ในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ วาระการประชุมในแต่ละเรื่องจะถูกกำหนดและแยกแยะเป็นรายวาระอย่างชัดเจน โดยนำเสนอวัตถุประสงค์ เหตุผล ตลอดจนความเห็นของคณะกรรมการในแต่ละวาระเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้ถือหุ้น ประธานฯ จะดำเนินการประชุมตามลำดับวาระที่กำหนดโดยไม่เพิ่มวาระอื่นที่มิได้กำหนดล่วงหน้าในหนังสือเชิญประชุม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นที่มิได้เข้าประชุม เว้นแต่จะมีการเสนอให้เพิ่มวาระภายใต้ข้อกำหนดตามกฎหมาย โดยผู้ถือหุ้นซึ่งมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ

ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ไม่ปรากฏว่ามีการขอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องอื่นนอกเหนือจาก ที่กำหนดในหนังสือเชิญประชุมแต่อย่างใด

1.8 ก่อนเริ่มการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง เลขานุการของบริษัทฯ จะทำหน้าที่อธิบายวิธีปฏิบัติในการออกเสียงลงคะแนน เพื่อให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีในเรื่องความโปร่งใส บริษัทฯ ได้เชิญผู้ถือหุ้นรายย่อยเข้าร่วมเป็นพยานในการตรวจนับการลงคะแนนเสียงในแต่ละวาระ นอกจากนั้น บริษัทฯ ได้แต่งตั้งทีมที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำในระดับสากลเข้ามาทำการตรวจสอบกระบวนการลงทะเบียนก่อนที่ประธานในที่ประชุมจะประกาศจำนวนผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะและจำนวนหุ้นของผู้ที่มาร่วมประชุมให้ผู้ถือหุ้นทราบ ตลอดจนทำการตรวจสอบกระบวนการการนับคะแนนเสียงในแต่ละวาระก่อนที่จะประกาศเป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบรายละเอียดผลลัพธ์ในการลงคะแนนในแต่ละวาระภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมแต่ละครั้ง และผลลัพธ์เช่นเดียวกันนี้ รวมถึงข้อซักถามต่างๆ ของผู้ถือหุ้นโดยสรุป ได้ถูกบันทึกไว้ในรายงานการประชุมซึ่งครอบคลุมสาระสำคัญต่างๆ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และจะนำส่งให้ผู้ถือหุ้นทั้งหมดเพื่อสอบทานก่อนการรับรองในการประชุมครั้งต่อไป สำหรับรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2562 บริษัทฯ ได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ (www.lagunaresorts.com) ภายใน 14 วันหลังวันประชุม

1.9 นโยบายของบริษัทฯ ในการจัดการประชุมผู้ถือหุ้น ไม่เพียงแต่เป็นการดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็น การสร้างโอกาสและเป็นเวทีให้ผู้ถือหุ้นได้แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น รวมถึงการซักถามกรรมการและ ฝ่ายจัดการในเรื่องใดก็ตามที่มีผลกระทบต่อบริษัทฯ ประธานในที่ประชุมได้จัดสรรเวลาการประชุมอย่างเพียงพอ และดำเนินการประชุมอย่างเหมาะสมและโปร่งใส โดยในระหว่างการประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้แสดงความคิดเห็นและซักถามก่อนการลงมติที่ประชุมของแต่ละวาระ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการอำนวย ความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นในการรักษาสิทธิประโยชน์ หากผู้ถือหุ้นท่านใดมีประเด็นคำถามที่ต้องการให้บริษัทฯ ชี้แจงในที่ประชุม สามารถจัดส่งคำถามล่วงหน้ามายังบริษัทฯ ได้ที่ “ir@lagunaresorts.com” หรือโทรสารหมายเลข 66 (0) 2285 0733

1.10 นอกเหนือจากผู้สอบบัญชีที่ได้เข้าร่วมการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีแล้ว ประธานกรรมการบริษัท ประธานกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ ประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และกรรมการทุกท่าน จะใช้ความพยายามในการเข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อทำการชี้แจงหรือตอบข้อซักถามของผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เชิญทีมที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำในระดับสากลเข้ามาร่วมประชุมเพื่อให้ความชัดเจนในประเด็นทางกฎหมาย อีกทั้งจัดให้มีล่ามมืออาชีพทำหน้าที่ในระหว่างการประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้น และคณะกรรมการบริษัทฯ สามารถสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2562 ที่ผ่านมา ประธานกรรมการบริษัท ประธานกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง ประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และกรรมการท่านอื่นๆ เข้าร่วมในการประชุม รายละเอียดตามรายชื่อที่ปรากฏในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2562

1.11 บริษัทฯ เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้อย่างเสรีโดยมิได้สร้างอุปสรรคหรือกีดกันใดๆ และยังจัดหาช่องทางที่เข้าถึงได้ง่ายให้ผู้ถือหุ้นได้รับข่าวสารข้อมูลของบริษัทฯ อย่างเพียงพอ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลสำคัญผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ (www.lagunaresorts.com) อาทิ มติของที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ในเรื่องที่สำคัญต่างๆ มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ รายงานประจำปี เป็นต้น

1.12 จากการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2562 (AGM Checklist) โดยสมาคมส่งเสริม ผู้ลงทุนไทย บริษัทฯ ได้รับคะแนน 97 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยบริษัทฯ จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีต่อไป

การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

บริษัทฯ ปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันแม้ว่าผู้ถือหุ้นแต่ละรายจะมีสัดส่วนการถือหุ้นและอำนาจในการออกเสียงลงคะแนนที่แตกต่างกันตามจำนวนหุ้นที่ถือ บริษัทฯ ตระหนักถึงหน้าที่ในการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันโดยดำเนินการทุกอย่างสอดคล้องตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องดังนี้

2.1 หุ้นของบริษัทฯ แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญประเภทเดียว โดยผู้ถือหุ้นแต่ละรายจะมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นที่ตนเองถืออยู่ หรือหนึ่งหุ้นสามัญเท่ากับหนึ่งเสียง

2.2 บริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมแทนได้ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ด้วยตนเอง โดยบริษัทฯ ได้จัดส่งหนังสือมอบฉันทะแบบ ข. ซึ่งเป็นหนึ่งในแบบตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด และเป็นแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการลงคะแนนเสียงได้ อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถที่จะเลือกมอบฉันทะให้แก่กรรมการอิสระของบริษัทฯ เพื่อเป็นตัวแทนร่วมลงคะแนนเสียง ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่อาจเข้าร่วมการประชุมได้ด้วยตนเอง โดยบริษัทฯ ได้ระบุชื่อของกรรมการอิสระไว้ในหนังสือมอบฉันทะ พร้อมทั้งแนบประวัติกรรมการอิสระที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับมอบฉันทะแทนผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมไว้เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารประกอบการประชุม

2.3 บริษัทฯ ได้จัดให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ รับทราบถึงภาระหน้าที่ในการจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลง การถือครองหลักทรัพย์บริษัทฯ ต่อ ก.ล.ต. ภายใน 3 วันทำการ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และได้บรรจุวาระเรื่องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของกรรมการและผู้บริหารไว้ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อให้ได้รับทราบเป็นรายไตรมาส

2.4 กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทฯ ท่านใดที่มีส่วนได้เสียหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาการเข้าทำธุรกรรมระหว่าง บริษัทฯ กับผู้ที่มีส่วนได้เสียหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง จะไม่เข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจดังกล่าว นอกจากนั้น บริษัทฯ ได้เปิดเผยรายละเอียดและเหตุผลของการเข้าทำรายการให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบก่อนการเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกันในกรณีที่ต้องขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น และปฏิบัติตามข้อกำหนดและประกาศของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนโดยเคร่งครัด รายละเอียดของการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “รายการระหว่างกัน” ในแบบ 56-1 และภายใต้หัวข้อ “บุคคลที่อาจมีความขัดแย้งและรายการระหว่างกัน” ในรายงานประจำปีของบริษัทฯ

ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าบริษัทฯ มีการฝ่าฝืน/ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ว่าด้วยการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในปี 2562 แต่อย่างใด

2.5 บริษัทฯ ได้กำหนดนโนบายการกำกับดูแลกิจการ และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจเพื่อเป็นแนวทางให้คณะกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหารระดับสูง และพนักงานทุกระดับของบริษัทฯ ได้พึงปฏิบัติ รวมถึงการห้ามในเรื่องการใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ นอกจากนั้น คณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้อนุมัตินโยบายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งห้ามมิให้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในขณะที่ยังครอบครองข้อมูลภายในที่เป็นความลับ และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ที่ยังมิได้เปิดเผยแก่สาธารณชน  ตลอดระยะเวลาปลอดการใช้ข้อมูลภายในที่ยังมิได้เปิดเผยแก่สาธารณชน (Embargo Period) รายละเอียดได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน” ของแบบ 56-1 และของรายงานประจำปีของบริษัทฯ ซึ่งในระหว่างปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฎว่ามีผู้ใดฝ่าฝืนการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว

2.6 นอกเหนือจากการให้เครดิตเทอมในการชำระเงินภายใต้การดำเนินธุรกิจการค้าทั่วไป บริษัทฯ ไม่มีนโยบายในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทที่มิใช่บริษัทย่อยของบริษัทฯ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการให้กู้ยืมหรือการค้ำประกันเงินกู้ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่เป็นไปตามสัญญาร่วมทุน ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทที่มิใช่บริษัทย่อยของบริษัทฯ แต่อย่างใด

บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย

เพื่อความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและผลตอบแทนทางการเงินแก่ผู้ถือหุ้น บริษัทฯ ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ใน การทำหน้าที่เป็นนิติบุคคลตัวอย่าง โดยให้ความสำคัญกับสิทธิต่างๆ ของบรรดาผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ดำเนินธุรกิจ อย่างเป็นธรรมและถือปฏิบัติตามกฎหมายตลอดจนกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ผู้ถือหุ้น: คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ โปร่งใส และแข็งขัน เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นทั้งหมดในการที่จะรักษาและเสริมสร้างมูลค่าระยะยาวต่อผู้ถือหุ้น ข้อมูลที่สำคัญทั้งหมดซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทฯ และ/หรือ การตัดสินใจของผู้ถือหุ้นจะต้องได้รับการเปิดเผยโดยครบถ้วนในเวลาที่เหมาะสม
พนักงาน: ในฐานะที่อยู่ในธุรกิจบริการ บริษัทฯ เชื่อว่า พนักงานคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการในแต่ละขั้นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าสอดคล้องตามกฎหมายแรงงาน และพนักงานทั้งหมดได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือแบ่งพรรคแบ่งพวก บริษัทฯ ให้ผลตอบแทนและสวัสดิการ อาทิ ค่าอาหาร ค่าซักรีด บัตรกำนัลต่างๆ การประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ แก่พนักงานโดยรวมในอัตราที่สามารถแข่งขันได้ โดยมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขอนามัย รถรับส่งปรับอากาศ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน

นโยบายในการพัฒนาบุคลากร

บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าการเจริญเติบโตขององค์กรนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพและประสิทธิภาพของพนักงาน บริษัทฯ จึงมีนโยบายมุ่งเน้นที่จะพัฒนาความรู้ของพนักงานทุกฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจ และสนับสนุนให้พนักงานได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ รวมถึงการมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และเติบโตไปพร้อมๆ กับความสำเร็จของบริษัทฯ เพื่อผลักดันให้นโยบายเกิดผลเป็นรูปธรรม บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นให้ผู้บริหารร่วมกันกำหนดทิศทางองค์กรที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ เพี่อให้แต่ละสายงานกำหนดเป็นกลยุทธ์ธุรกิจและแผนธุรกิจเพื่อพนักงานในแต่ละสายงานจะได้นำไปกำหนดวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดเป็นรายบุคคลให้สอดรับกับทิศทางการดำเนินงานขององค์กรและหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงาน ตัวชี้วัดนี้จะเป็นมาตรฐานประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคน และเป็นข้อมูลในการพัฒนาบุคคลากรให้สอดคล้องกับเป้าหมายต่อไป

นโยบายการฝึกอบรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1) หลักสูตรภาคบังคับตามที่บริษัทกำหนดขึ้น ได้แก่ การอบรมพนักงานใหม่ และการอบรมนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น
2) หลักสูตรตามสายอาชีพซึ่งพนักงานสามารถออกไปฝึกอบรมกับสถาบันฝึกอบรมเพื่อพัฒนาตนเอง

การฝึกอบรมถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัด (KPIs-Key Performance Indicators) และมาตรฐานประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคนซึ่งจะมีการประเมินในไตรมาสที่ 4 ของทุกปี

การอบรมพนักงานใหม่

สำหรับพนักงานใหม่ทุกคน จะได้รับการอบรมหลักสูตรปฐมนิเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ให้พนักงานใหม่ได้รับทราบระเบียบปฏิบัติในการทำงาน ข้อปฏิบัติ นโยบายขององค์กร รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และสถานที่ตั้งของแต่ละโรงแรมในเครือ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเข้าร่วมงานกับทีมต่อไป

การอบรมนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น

พนักงานทุกคนต้องเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นปีละหนึ่งครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์ให้พนักงานได้รับรู้แนวทางปฏิบัติในกิจกรรมใดๆ เพื่อป้องกันการสนับสนุนให้เกิดการทุจริตและคอร์รัปชั่น

การพัฒนาความรู้และทักษะ

บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาพนักงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถและทักษะ โดยมีการฝึกอบรมพนักงานในหลักสูตรต่างๆ ดังนี้

  • อบรมการเป็นหัวหน้างานอย่างมืออาชีพ สำหรับผู้บริหารระดับกลาง
  • ความรู้เรื่องภาษีสำหรับพนักงานบัญชีและพนักงานฝ่ายบริหารบุคคล
  • ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการบริหารการเงินสำหรับผู้บริหารระดับผู้จัดการฝ่าย
  • ฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้าง เพิ่มพูนและพัฒนาทักษะให้แก่พนักงานที่เป็น Trainer ได้มีความรู้และความชำนาญ ในการสอนงานมากยิ่งขึ้น
  • การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างมืออาชีพ

การพัฒนาพนักงานเพื่อรองรับการเติบโตและขยายตัวของบริษัทฯ

สำหรับการพัฒนาบุคคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวและการเติบโตนั้น บริษัทฯ มีการพัฒนาผู้บริหารโดยกำหนดเป็นแผนการสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) สำหรับผู้บริหารระดับผู้จัดการขึ้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นและเพื่อรองรับการขยายกิจการในระยะยาว นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้มีการคัดเลือกผู้บริหารระดับกลางที่มีศักยภาพสูงเข้าโครงการ Management Development Program (MDP) และพนักงานระดับผู้ช่วยผู้จัดการเข้าโครงการ Talent Management Program (TMP) เพื่อค้นหาผู้ที่มีศักยภาพในการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้บริหารสำหรับร่วมทีมทำงานในโรงแรมที่เปิดใหม่

สำหรับการพัฒนาผู้บริหารรุ่นเยาว์ ทางบริษัทฯ ยังมีการดำเนินโครงการ Management Trainee อย่างต่อเนื่องในการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อเติบโตในระดับผู้บริหารในอนาคต ด้วยการรับนักศึกษาจบใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมโครงการ โดยในปีแรก Management Trainee ได้ฝึกงานหมุนเวียนไปตามแผนกต่างๆ เพื่อเรียนรู้งานบริหารจัดการครบทุกด้าน รวมถึงการจัดทำรายงานการแก้ปัญหาที่พบเพื่อนำเสนอผู้บริหารเป็นแนวทางในการนำไปปรับใช้พัฒนาระบบต่างๆ และในปีที่สอง Management Trainee จะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ และได้รับการพัฒนาสู่การเป็นผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงของบริษัทต่อไป
ไป

ลูกค้า: บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจทั้งในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การขายผลิตภัณฑ์และบริการที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า การรักษาความลับและ/หรือข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญสูงสุด บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเป็นธรรม และไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิของลูกค้า และไม่นำข้อมูลของลูกค้าไปใช้เพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ

บริษัทฯ จะปฏิบัติตามข้อตกลงทางการค้าอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ บริษัทฯ จะแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าและร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

คู่แข่งขัน: บริษัทฯ มีความเชื่อว่าการแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญในการเปิดตลาดการค้าเสรี ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ อันเป็นการป้องกัน ขัดขวาง ไม่ให้ผู้ประกอบการซึ่งอาจเป็นคู่แข่งเข้ามาดำเนินการในตลาดซึ่งบริษัทฯ ได้ประกอบธุรกิจอยู่ บริษัทฯ มีแนวความคิดว่าการแข่งขันที่เข้มข้นจะเป็นการกระตุ้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการในท้องตลาด ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานของตลาดและยังประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคและสังคมโดยรวม อีกทั้งบริษัทฯ จะไม่ละเมิดความลับหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าของคู่แข่งขันด้วยวิธีฉ้อฉล ตลอดจนไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์และต่อต้านการทุจริต และไม่สนับสนุนการจ่ายสินบน ซึ่งกำหนดไว้ในจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (Code of Corporate Conduct) ของบริษัทฯ ซึ่งอนุมัติโดยคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทฯ
สังคมและสิ่งแวดล้อม: บริษัทฯ ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้กำหนดให้มีแผนกความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมและชุมชนสัมพันธ์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในชุมชนและสังคมที่บริษัทตั้งอยู่ โดยได้จัดกิจกรรม CSR ที่มุ่งเน้นถึงการพัฒนาสังคมและการศึกษา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ศาสนาและวัฒนธรรม การส่งเสริมสวัสดิการและพนักงานสัมพันธ์ ผ่านโครงการต่างๆ รายละเอียดได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “CSR” ในแบบ 56-1 และในรายงานประจำปีของบริษัทฯ รวมทั้งเว็บไซต์ของบริษัทฯ (www.lagunaresorts.com)

รางวัล Green Leaf Awards ซึ่งโรงแรมใน ลากูน่า ภูเก็ต ได้รับเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ในส่วนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการของบริษัทฯ และคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสุขภาพ ข้อดีและข้อเสียของโครงการ รวมไปถึงการเสนอมาตรการในการปรับโครงการให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นและการลดผลกระทบดังกล่าว บริษัทฯ ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยริเริ่มโครงการ “3R” ในการดำเนินงานของโรงแรมทุกแห่งเพื่อลดมลภาวะ ซึ่งประกอบด้วยการลด (Reduce) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และการปรับปรุงเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) พนักงานของโรงแรมทุกคนจะได้รับการฝึกอบรมให้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการติดตามการใช้พลังงานและน้ำอย่างใกล้ชิดโดยพนักงานจะได้รับรายการตรวจสอบ (Checklists) ที่ครอบคลุมถึงรายละเอียดต่างๆ เพื่อทำการตรวจสอบเองได้อย่างมั่นใจ ทั้งนี้ บริษัทฯ จะไม่ปล่อยน้ำเสียที่เกิดจากโรงแรมทิ้งลงสู่ทะเล แต่จะทำการบำบัดโดยผ่านเครื่องบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ และนำน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ในการรดน้ำต้นไม้ในบริเวณโรงแรม รายละเอียดได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “CSR/Environmental Policy” ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ (www.lagunaresorts.com)

คู่ค้า: บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะหล่อหลอมความสัมพันธ์ระยะยาวในทางธุรกิจกับคู่ค้า ดังนั้นจึงเป็นที่มาของนโยบายการให้ผลกำไรอย่างเป็นธรรมต่อคู่ค้า อีกทั้งให้ความเคารพต่อเงื่อนไขการชำระเงิน บริษัทฯ มีนโยบายในการคัดเลือกคู่ค้าอย่างยุติธรรมและโปร่งใส โดยมีการแข่งขันจากผู้เสนอราคาอย่างน้อย 3 ราย ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการปฏิบัติงานและการดำเนินงาน (Standard Operating Procedures) ของบริษัทฯ ซึ่งได้แจกจ่ายให้พนักงานภายในองค์กรรับทราบและปฎิบัติตาม
เจ้าหนี้: บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อเจ้าหนี้เสมือนพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความสำคัญยิ่ง ดังนั้น จึงได้มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติต่อเจ้าหนี้ทุกรายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม และปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัญญาที่ตกลงกันอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะเงื่อนไขการค้ำประกัน และการบริหารเงินทุน บริษัทฯ จะเปิดเผยฐานะการเงินอย่างถูกต้องตรงตามกำหนด ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งหรือในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ บริษัทฯ จะแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบโดยเร็วที่สุดและหาแนวทางแก้ไขที่เป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่ายเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฎว่ามีเจ้าหนี้รายใดแจ้งว่าบริษัทฯ ไม่ปฎิบัติตามข้อผูกพันทั้งหลายที่มีอยู่กับเจ้าหนี้

ในปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่ามีกรณีที่บริษัทฯ ฝ่าฝืนกฎหมายด้านแรงงาน การจ้างงาน ผู้บริโภค การแข่งขันทางการค้า และสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุมดูแลและป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น

บริษัทฯ ยึดมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส มีคุณธรรมและตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและ ผู้มีส่วนได้เสีย ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยนอกเหนือจากนโยบายการกำกับดูแลกิจการ และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจแล้ว บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นซึ่งได้รับการพิจารณาเสนอแนะจากคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติในเรื่องการต่อต้านการติดสินบนและการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ตลอดจนเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

บริษัทฯ มีนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นอย่างสิ้นเชิง (zero-tolerance policy) สำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทั้งหมดของบริษัทฯ ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกคน กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม และต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติในนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นของบริษัทฯ ซึ่งครอบคลุมกระบวนการดำเนินงานต่างๆ เช่น การบริจาคเพื่อการกุศล การให้เงินสนับสนุน และการให้หรือรับของขวัญ เป็นต้น

บริษัทฯ ได้สื่อสารนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นของบริษัทฯ ไปยังคู่ค้าทางธุรกิจ และบุคคลภายนอก ผ่านช่องทางเว็บไซต์ บอร์ดประชาสัมพันธ์ เพื่อรับทราบและปฏิบัติให้สอดคล้องกับแนวทางที่บริษัทฯ กำหนด และเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นของบริษัทฯ และยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงาน บริษัทฯ กำหนดให้มีการอบรมให้แก่พนักงานของบริษัทฯ เป็นประจำทุกปี ในการปฐมนิเทศก่อนเริ่มทำงาน บริษัทฯ ได้กำหนดให้พนักงานที่เข้าใหม่ต้องลงลายมือชื่อในแบบแจ้งข้อมูลพนักงานเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของตนและปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจและนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่นของบริษัทฯ อย่างเต็มที่ และกำหนดให้พนักงานทุกคนลงลายมือชื่อรับทราบถึงนโยบายดังกล่าวเป็นประจำทุกปี

บริษัทฯ จัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมกับลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และดำเนินการตามขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงซึ่งรวมถึงแผนการปฏิบัติและการควบคุมภายใน เพื่อติดตามดูแล ตรวจสอบและป้องกันความเสี่ยงรวมถึงการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการบริหารความเสี่ยงซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องนั้น คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทฯ ร่วมกับฝ่ายตรวจสอบภายในกลุ่มบริษัท ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบความเสี่ยง ประเมินผล และเสนอแผนการควบคุมเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ โดยคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการจะทำหน้าที่กำกับดูแลและสอบทานกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงาน การประเมินความเสี่ยง รวมทั้งขั้นตอนวิธีการควบคุมความเสี่ยงดังกล่าว ตลอดจนกำกับดูแลให้บริษัทฯ มีกระบวนการในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ต่อเนื่อง ระบบการควบคุมภายใน และระบบการตรวจสอบภายในที่เหมาะสม

ด้วยตระหนักถึงผลประโยชน์ระยะยาวในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และการนำหลักการทางธุรกิจไปปฏิบัติเพื่อจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชั่น บริษัทฯ ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยประกาศเจตนารมณ์เป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption : CAC) บริษัทฯ มีความภูมิใจที่จะประกาศว่าบริษัทฯ ได้เป็นสมาชิกที่ได้รับการรับรองจากโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 หลังจากการวางนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตทั้งหมดที่จำเป็นภายใต้แนวทางปฏิบัติที่เข้มงวดของ CAC ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของบริษัทฯ ในการต่อต้านการทุจริต

บริษัทฯ ได้ประกาศนโยบาย “งดรับของขวัญ (No Gift Policy)” ในเทศกาลปีใหม่และเทศกาลอื่นใด เป็นระเบียบปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น เรื่องการรับ-ให้ของขวัญให้กับพนักงานของบริษัทฯ ทุกระดับชั้นได้รับทราบและถือปฏิบัติเพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานที่ดีในการปฏิบัติงานของบุคลากรในบริษัทฯ และจัดทําหนังสือขอความร่วมมืองดเว้นการให้ของขวัญทุกประเภทแก่ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ แจ้งไปยังคู่ค้าของบริษัทฯ ได้รับทราบถึงนโยบายดังกล่าว และในกรณีมีเหตุที่ไม่สามารถส่งคืนของขวัญได้ บริษัทฯ จะรวบรวมนำไปบริจาคเพื่อการกุศลหรือสาธารณประโยชน์ หรือโครงการเพื่อสังคมตามความเหมาะสม

การไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น หรือในกรณีที่ถูกจับได้ว่าเป็นผู้กระทำการคอร์รัปชั่นจะต้องถูกลงโทษทางวินัยตามนโยบายของบริษัทฯ รวมถึงการเลิกจ้าง ยังอาจจะถูกดำเนินคดีทางอาญา/ทางแพ่งหากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

ในปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏรายงานการกระทำผิดด้านการทุจริต หรือการคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด

นโยบายว่าด้วยการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ยึดมั่นในมาตรฐานการปฏิบัติระดับสูงและความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้กำหนดและอนุมัตินโยบายการแจ้งเบาะแส (Whistle Blowing Policy) และได้ประชาสัมพันธ์ทั่วทั้งองค์กร เพื่อส่งเสริมให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ผิดปกติ หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มบริษัทฯ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภายในกลุ่มบริษัทฯ ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รับข้อร้องเรียน (Receiving Officer) หรือเป็นช่องทางให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถติดต่อกับบริษัทฯ เพื่อแจ้งเรื่องสำคัญอันเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยสามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางอีเมล์ได้ที่ “ethics@lagunaresorts.com” หรือแจ้งโดยตรงทางโทรศัพท์สายด่วน 66 (0) 2285 0112 เจ้าหน้าที่รับข้อร้องเรียนจะทำให้มั่นใจได้ว่ารายงานข้อร้องเรียนจากผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับการจัดการ ประเมิน และตรวจสอบอย่างมืออาชีพและมีอิสระ นอกจากนั้น คณะทำงานในการพิจารณาข้อร้องเรียน (Whistle Blowing Evaluation Team) ซึ่งมีสมาชิกประกอบไปด้วยคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ และหัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภายในกลุ่มบริษัทฯ ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประเมินรายงานข้อร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้เสีย พิจารณา และสอบทานถึงลักษณะของข้อร้องเรียน และกำหนดแนวทางในการตรวจสอบหาความจริงตามความจำเป็น มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่เหมาะสม มีการรักษาความลับและคุ้มครองผู้ร้องเรียนที่แท้จริงจากการได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หากการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ข้อสรุปว่ามีการฝ่าฝืนกฏระเบียบ หรือข้อกล่าวหาได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริง ทางบริษัทฯ จะดำเนินมาตรการเยียวยาอย่างเท่าเทียมกับความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้กระทำผิด ทั้งนี้ ผลของการตรวจสอบและบทสรุปของข้อร้องเรียนจะถูกรายงานไปยังคณะกรรมการบริษัทฯ โดยในปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏมีข้อร้องเรียนหรือข้อกล่าวหาใดๆ

นโยบายด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

บริษัทฯ ตั้งมั่นในปณิธานเพื่อความสำเร็จด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน จากการที่บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการเอิร์ธเช็ค (EarthCheck) ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะองค์กรระดับโลกด้านมาตรฐานการบริหารจัดการและการรับรองมาตรฐานการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำให้บริษัทฯ มุ่งมั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยดำเนินงานตามระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ระบุความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม บันทึกและติดตามผลกระทบต่างๆ เพื่อบรรลุมาตรฐานของเอิร์ธเช็ค และปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเพื่อความสำเร็จด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนในระดับสากล บริษัทฯ ผ่านการรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมและได้รับประกาศนียบัตรระดับซิลเวอร์จากเอิร์ธเช็คในปี 2558 โดยมีการตรวจติดตามประจำปีในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเพื่อรักษาสถานะระดับซิลเวอร์

บริษัทฯ ได้จัดฝึกอบรมพนักงานในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ ให้ความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแก่พนักงานทุกแผนก มีการจัดทำการประเมินความเสี่ยงลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจขององค์กร และกำหนดแผนงานสิ่งแวดล้อมให้พนักงานทุกคนถือปฏิบัติ และได้ประชาสัมพันธ์ทั่วองค์กรผ่านระบบอินทราเน็ตของบริษัทฯ และติดประกาศประชาสัมพันธ์ เพื่อให้พนักงานทุกคนทราบถึงนโยบายของบริษัทฯ และ มีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา บริษัทฯ พร้อมด้วยกลุ่มโรงแรมใน ลากูน่า ภูเก็ต ร่วมกันประกาศนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรและดำเนินการปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรต่างๆ ภายในองค์กร โดยมุ่งเน้นการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนตามเกณฑ์มาตรฐานของเอิร์ธเช็ค และร่วมมือกันอย่างจริงจังจัดทำโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างต่อเนื่องในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม มรดกทางวัฒนธรรม และส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ลากูน่า ภูเก็ต ผ่านทางโครงการและกิจกรรมความรับผิดชองขององค์กรต่อสังคมต่างๆ ของกลุ่ม ลากูน่า ภูเก็ต อาทิเช่น การลดปริมาณคาร์บอนผ่านกิจกรรมปลูกต้นไม้ การให้คำปรึกษาและทุนการศึกษาแก่เยาวชนในชุมชน กิจกรรมทำความสะอาด การพิจารณาการจ้างงานเป็นพิเศษและการเสริมสร้างศักยภาพให้กับพนักงานในท้องถิ่น และการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการจากในท้องถิ่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นโยบายว่าด้วยความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ มีนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการดูแลเรื่องความปลอดภัยสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยสุขอนามัย ชุมชนและสังคมโดยรอบ ด้วยตระหนักดีว่าเราเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของสังคม ที่จะร่วมก้าวเดินไปสู่การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนสืบไป บริษัทฯ จึงได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจภายใต้ความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมโดยรวม ดังนี้

  1. มุ่งมั่นสนับสนุนให้การดำเนินกิจกรรมของบริษัทฯ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามกฏหมาย ความปลอดภัย และข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. กำหนดให้ความปลอดภัยในการทำงานถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบอันดับแรกในการปฏิบัติงานของพนักงานทุกคน
  3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องกระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้นำ อบรม ฝึกสอน จูงใจให้พนักงานปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย
  4. กำหนดให้พนักงานทุกคนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนทรัพย์สินของบริษัทฯ เป็นสำคัญตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน
  5. กำหนดให้พนักงานทุกคนต้องดูแล ทำความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ปฏิบัติงานของตนเองอยู่เสมอ
  6. มุ่งมั่นสนับสนุนให้มีกิจกรรมความปลอดภัยที่ช่วยกระตุ้นส่งเสริมและพัฒนาจิตสำนึกของพนักงานให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน
  7. มุ่งมั่นสนับสนุนให้มีการทบทวน ปรับปรุง และพัฒนาระบบการบริหารงานความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง
  8. มุ่งมั่นหาหนทางในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการตรวจติดตามและควบคุมการปล่อยและการระบายออกของมลพิษรวมถึงการจัดการของเสียอันตรายและไม่อันตรายเพื่อรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ
  9. ใช้ทรัพยากรและพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงป้องกันมลภาวะทางน้ำ อากาศ ของเสีย และมลภาวะอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ ให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

 

  • ทีมช่วยเหลือฉุกเฉินเบื้องต้นทางการแพทย์

บริษัทฯ ได้คัดเลือกพนักงานที่มีศักยภาพจากฝ่ายต่างๆ รวมทั้งจากโรงแรมให้เข้าการฝึกอบรมวิธีช่วยเหลือทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉิน จัดการฝึกอบรมตามหลักสูตรมาตรฐานโดยเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลกรุงเทพ ภูเก็ต ซึ่งต้องฝึกอย่างต่อเนื่องทุก 6 เดือน เพื่อให้มีพื้นฐานแข็งแกร่งในการเข้าช่วยเหลือแขกที่เข้าพักและพนักงานได้ในทันที่ที่พบการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุฉุกเฉินในโรงแรมและสถานประกอบการ

  • การฝึกซ้อมแผนอพยพหนีภัยสึนามิที่จังหวัดภูเก็ต

เนื่องจากบริษัทฯ มีพนักงานจำนวนมากทำงานในส่วนสำนักงานและโรงแรมที่จังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ จึงได้กำหนดนโยบายการฝึกซ้อมแผนอพยพหนีภัยสึนามิในทุกๆ ปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้ทักษะและความชำนาญในการอพยพพนักงานในพื้นที่และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอดจนการสั่งการ การบัญชาการให้แก่บุคลากรในด้านการแพทย์ฉุกเฉินรวมทั้งการทดสอบเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ และยานพาหนะให้พร้อมปฏิบัติจริง ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติธรรมชาติซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงไม่ใช่เรื่องที่จะละเลยอีกต่อไป บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าความรู้ และประสบการณ์ที่ผู้เข้าร่วมฝึกซ้อมทุกคนได้รับจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเตรียมความพร้อม ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่พนักงานและแขกผู้เข้าพักของโรงแรมอีกด้วยด้วย

นโยบายว่าด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน โดยยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายรวมทั้งหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน การไม่กีดกันหรือให้สิทธิพิเศษ หรือเลือกปฏิบัติต่อผู้หนึ่งผู้ใดเนื่องจากความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว เพศ ศาสนา อายุ ภาษา สถานะของบุคคล ความเชื่อทางสังคม การศึกษา และความคิดเห็นทางการเมือง

บริษัทฯ เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคน มีสิทธิเท่าเทียมกันในการทำงาน ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งต่างๆ ของบริษัทฯ ดูแลข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน โดยถือเป็นความลับ ไม่ส่งข้อมูล หรือกระจายข้อมูลส่วนบุคคลไปยังบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือเปิดเผย ถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล สนับสนุนและเคารพการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยไม่กระทำและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิเช่น ไม่สนับสนุนการบังคับใช้แรงงาน หรือไม่มีการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก ในปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏข้อร้องเรียนว่าด้วยการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อพนักงาน

นโยบายว่าด้วยการไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์

บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ไว้ ซึ่งถือเป็นจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกลิขสิทธิ์ หรือเฉพาะที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การจำกัดสิทธิ์ผู้ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ในการติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีการตรวจสอบการใช้งานคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นระยะโดยผู้ตรวจสอบภายในกลุ่มบริษัทฯ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่ามีกรณีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือลิขสิทธิ์แต่อย่างใด

การบริหารความเสี่ยงด้านไอที

บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ในการปกป้องข้อมูลของบริษัท และลูกค้า ดังนั้น เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการต่อไปนี้:

  • ใช้ระบบรักษาควาปลอดภัยด้านเครือข่าย และ อินเตอร์เนต (ไฟร์วอลล์) ล่าสุดเพื่อรักษาความปลอดภัยเครือข่ายของ บริษัท
  • ห้องเซิร์ฟเวอร์อยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยและติดตั้งเครื่องดับเพลิง FM200
  • การนำระบบไอทีรุ่นล่าสุดไปใช้ในคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมด

บริษัทฯ จัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้านไอทีโดยการตั้งค่าระบบสำรองข้อมูลและกู้คืนข้อมูลซึ่งสามารถติดตั้งระบบไอทีใหม่ได้ทันเวลาเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องเมื่อเกิดการโจมตีจากไวรัส โทรจัน มัลแวร์ อีเมลหลอกลวงหรือแฮ็กเกอร์

ในแต่ละปี บริษัทฯ จะทบทวนและปฏิบัติตามแผนธุรกิจต่อเนื่อง (BCM) และแผนการกู้คืนภัยพิบัติ (DRP) เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับระบบความเสี่ยงและวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ผู้ตรวจสอบภายในยังเป็นผู้ติดตามการปฏิบัติตามมาตรการลดความเสี่ยงเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ มีความเสี่ยงและยอมรับได้

นโยบายด้านไอที

นโยบายและระเบียบปฏิบัติด้านไอทีมีการพัฒนาและสื่อสารกับพนักงานทุกคนของบริษัทฯ เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับ การกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ บางส่วนของนโยบายเหล่านี้รวมถึง

  • การใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น
  • การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตต้องไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงความเสียหายของข้อมูลและระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ
  • ปกป้องข้อมูลของบริษัทฯ และลูกค้าเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล
  • การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
  • การควบคุมระดับการเข้าถึงข้อมูล รหัสผ่านและการเก็บรักษาข้อมูลสามารถตรวจสอบได้ย้อนหลัง

การพัฒนาแอพพลิเคชันและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง บริษัทฯ ได้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ แอ็พพลิเคชันออนไลน์ เช่น Purchasing Online, Member Online และ Leave Online เพื่อลดปริมาณกระดาษที่ใช้ใน บริษัทฯ และเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของพนักงานด้วย

การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส และทันเวลา โดยได้ดำเนินการดังนี้

1. กรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ ทุกท่านได้รายงานให้บริษัทฯ ทราบถึงการมีส่วนได้เสียของตนหรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องซึ่งเป็นส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด รวมทั้งได้ปรับปรุงและรายงานให้บริษัทฯ ทราบภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการมีส่วนได้เสียดังกล่าว โดยรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการและผู้บริหารได้ถูกบรรจุไว้เป็นวาระในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อให้ได้ทราบเป็นรายไตรมาส

2. ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ เปิดเผยข้อมูลทั่วไป ข้อมูลทางการเงิน และข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของ บริษัทฯ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส และทันเวลา สอดคล้องตามข้อกำหนดของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ดังกล่าวไปสู่ผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้นและผู้ที่เกี่ยวข้องได้กระทำผ่านช่องทาง ตลาดหลักทรัพย์ฯ และเว็บไซต์ของบริษัทฯ (www.lagunaresorts.com)

3. ผู้ลงทุนรายบุคคล ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และหน่วยงานภาครัฐ สามารถติดต่อกับบริษัทฯ ได้ที่เลขานุการของบริษัทฯ โทรศัพท์ 66 (0) 2677 4455 หรือ “ir@lagunaresorts.com”

4. รายงานทางการเงินที่บริษัทฯ จัดทำมีความถูกต้อง ครบถ้วนตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป โดยผ่านการตรวจสอบ/สอบทานจากผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ปัจจุบันคือ บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด) และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ และคณะกรรมการบริษัทฯ ก่อนการเปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้เปิดเผย “ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทฯ ต่อรายงานทางการเงิน” ในรายงานประจำปีของบริษัทฯ และในปี 2562 งบการเงินทั้งรายไตรมาสและประจำปีของบริษัทฯ ได้รับการรับรองโดยไม่มีเงื่อนไขจากผู้สอบบัญชี

5. บริษัทฯ ขออ้างอิงการเปิดเผยข้อมูลต่อไปนี้ ภายใต้หัวข้อต่างๆ ดังนี้

  • รายชื่อ อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ รายละเอียดได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “โครงสร้างการจัดการ” ของแบบ 56-1 และของรายงานประจำปีของบริษัทฯ
  • ประวัติของคณะกรรมการบริษัทฯ คณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภายใน และเลขานุการบริษัทฯ รายละเอียดได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “เอกสารแนบ 1” ของแบบ 56-1 และหัวข้อ “คณะกรรมการบริษัทฯ คณะผู้บริหาร หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภายใน และเลขานุการของบริษัทฯ” ของรายงานประจำปีของบริษัทฯ
  • จำนวนครั้งของการประชุมและจำนวนครั้งที่กรรมการแต่ละท่านเข้าประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ในปี 2562 รายละเอียดได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อนี้ ข้อ 5 “ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ”
  • การปฏิบัติงานในปีที่ผ่านมาของคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการรายละเอียดได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “เอกสารแนบ 4” ของแบบ 56-1 และ หัวข้อ “รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ” ของรายงานประจำปีของบริษัทฯ
  • การปฏิบัติงานในปีที่ผ่านมาของคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “เอกสารแนบ 5” ของแบบ 56-1 และหัวข้อ “รายงานของคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน” ของรายงานประจำปีของบริษัทฯ
  • จำนวนเงินค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร รายละเอียดได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “ค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร” ของแบบ 56-1 และของรายงานประจำปีของบริษัทฯ

6. ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทำการเปิดเผยสารสนเทศอย่างครบถ้วนถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดตามประกาศและกฎข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต. นอกจากนี้ บริษัทฯ มิได้ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ ก.ล.ต. แจ้งว่า บริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการเปิดเผยสารสนเทศแต่อย่างใด

ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

5.1 โครงสร้างของคณะกรรมการ

5.1.1 องค์ประกอบและวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ

ปัจจุบัน คณะกรรมการบริษัทฯ ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 12 ท่าน โดยมีกรรมการจำนวน 5 ท่าน ได้แก่ นายวุฒิพล สุริยาภิวัฒน์ ดร. ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ นายธงชัย อานันโทไทย นางสาวศรินธร อุนยโกวิท และนายสุรพล สุปรัชญา เป็นกรรมการอิสระคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกคณะกรรมการบริษัทฯ ทั้งหมด

สมาชิกคณะกรรมการบริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาจากคุณสมบัติในด้านต่างๆ ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ ความเชี่ยวชาญจากหลายวิชาชีพ การยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ความสามารถ ในการสอบถามข้อมูลเชิงวิเคราะห์อย่างมีอิสระ และความเข้าใจในธุรกิจของบริษัทฯ ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทฯ ประกอบด้วยนักธุรกิจและผู้มีวิชาชีพชั้นนำซึ่งมีความรอบรู้ทางด้านการเงิน การบัญชี กฎหมาย การบริหารธุรกิจ และการขายและการตลาด

กรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ไม่เคยเป็นพนักงานหรือหุ้นส่วนของผู้สอบบัญชีภายนอก ที่บริษัทฯ ใช้บริการอยู่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

กรรมการอิสระของบริษัทฯ ทุกท่าน มีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ และ มีคุณสมบัติเกี่ยวกับความเป็นอิสระตามที่บริษัทฯ กำหนด และเป็นไปในแนวทางเดียวกับคุณสมบัติของกรรมการตรวจสอบตามประกาศของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

กรรมการบริษัทเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ และมีเวลาเพียงพอที่จะอุทิศความรู้ ความสามารถ และปฏิบัติหน้าที่ให้บริษัทฯ ได้ โดยไม่ปรากฏว่ามีกรรมการอิสระท่านใดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนเกินกว่า 5 แห่ง และไม่ปรากฏว่ามีกรรมการบริหาร ท่านใดดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนอื่นเกินกว่า 3 บริษัท

นโยบายของบริษัทฯ เกี่ยวกับการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการนั้นเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทฯ ข้อที่ 14 ซึ่งกำหนดว่าในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีให้กรรมการออกจากตำแหน่งเป็นอัตรา 1 ใน 3 โดยพิจารณาจากกรรมการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง ดังนั้น กรรมการบริษัทฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และกรรมการที่ออกจากตำแหน่งไปนั้นอาจได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเข้ามาเป็นกรรมการใหม่ได้

กรรมการอิสระไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจใดๆ กับบริษัทฯ และไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ตลอดจนไม่มีความสัมพันธ์หรืออยู่ในสถานการณ์ใดๆ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะหรืออาจดูเหมือนว่าจะทำให้เกิดการแทรกแซงในการใช้ดุลยพินิจทางธุรกิจที่เป็นอิสระเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ

5.1.2  คำนิยามของ “กรรมการอิสระ”

“กรรมการอิสระ” หมายถึง บุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีความเป็นอิสระสอดคล้องและเท่ากับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ซึ่งปัจจุบันหลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติของกรรมการอิสระไว้ดังนี้

“กรรมการอิสระ” หมายถึง บุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีความเป็นอิสระสอดคล้องและเข้มกว่าหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ซึ่งปัจจุบันหลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติของกรรมการอิสระไว้ดังนี้

(1) ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 0.75 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ทั้งนี้ ให้นับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องของกรรมการอิสระรายนั้นๆ ด้วย

(2) ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมอิสระ ทั้งนี้ ลักษณะต้องห้ามดังกล่าวไม่รวมถึงกรณีที่กรรมการอิสระเคยเป็นข้าราชการ หรือที่ปรึกษาของส่วนราชการซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ

(3) ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมายในลักษณะที่เป็นบิดา มารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตร ของกรรมการรายอื่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย

(4) ไม่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน รวมทั้งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระ

ความสัมพันธ์ทางธุรกิจตามวรรคหนึ่ง รวมถึงการทำรายการทางการค้าที่กระทำเป็นปกติเพื่อประกอบกิจการ การเช่าหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ รายการเกี่ยวกับสินทรัพย์หรือบริการ หรือการให้หรือรับความช่วยเหลือทางการเงิน ด้วยการรับหรือให้กู้ยืม ค้ำประกัน การให้สินทรัพย์เป็นหลักประกันหนี้สิน รวมถึงพฤติการณ์อื่นทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นผลให้บริษัทฯ หรือคู่สัญญามีภาระหนี้ที่ต้องชำระต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่ร้อยละสามของสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของบริษัท หรือตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทขึ้นไป แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ทั้งนี้ การคำนวณภาระหนี้ดังกล่าวให้เป็นไปตามวิธีการคำนวณมูลค่าของรายการที่เกี่ยวโยงกันตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันโดยอนุโลม แต่ในการพิจารณาภาระหนี้ดังกล่าว ให้นับรวมภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างหนึ่งปีก่อนวันที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบุคคลเดียวกัน

(5) ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้บริษัทฯ และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของสำนักงานสอบบัญชี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ สังกัดอยู่ เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระ

(6) ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพใดๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้รับค่าบริการเกินกว่าสองล้านบาทต่อปีจากบริษัทฯ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของผู้ให้บริการทางวิชาชีพนั้นด้วย เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระ

(7) ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของบริษัทฯ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่

(8) ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย หรือไม่เป็นหุ้นส่วนที่มีนัยในห้างหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่รับเงินเดือนประจำ หรือถือหุ้นเกินร้อยละหนึ่งของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่น ซึ่งประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย

(9) ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทฯ

ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระที่มีลักษณะเป็นไปตามวรรคหนึ่ง (ก) ถึง (ฌ) แล้ว กรรมการอิสระ อาจได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท ให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท โดยมีการตัดสินใจในรูปแบบขององค์คณะ (collective decision) ได้

5.1.3 วาระการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องของกรรมการอิสระ

บริษัทฯ สนับสนุนให้กรรมการอิสระดำรงตำแหน่งติดต่อกันไม่เกิน 3 วาระต่อเนื่องกัน และสิ้นสุดแต่ละวาระในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีซึ่งครบกำหนดออกตามวาระ คณะกรรมการบริษัทฯ อาจเสนอชื่อกรรมการอิสระท่านนั้นๆ เพื่อรับการเลือกตั้งกลับเข้าดํารงตําแหน่งกรรมการอิสระต่อไปในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีตามที่เห็นสมควร

ในส่วนของกรรมการอิสระ บริษัทฯ ไม่มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องของกรรมการอิสระ เนื่องจากกรรมการอิสระของบริษัทฯ มีคุณสมบัติตามนิยามกรรมการอิสระที่สำนักงาน ก.ล.ต. และบริษัทฯ กำหนด อีกทั้งยังมีความรู้และความเข้าใจในธุรกิจของบริษัทฯ และสามารถให้ความเห็นอย่างอิสระในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการชุดย่อย

5.1.4 บทบาทหน้าที่ของประธานกรรมการบริษัท

  • เรียกประชุมคณะกรรมการ โดยทำหน้าที่ประธานในการประชุมคณะกรรมการ ในกรณีที่ต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
  • กำหนดวาระการประชุมคณะกรรมการโดยหารือร่วมกับประธานกรรมการบริหาร / กรรมการผู้จัดการ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ และประธานคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และดูแลให้กรรมการบริษัทฯ ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ทันเวลาและชัดเจนก่อนการประชุม เพื่อให้กรรมการบริษัทฯ สามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
  • ดำเนินการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ตามระเบียบวาระการประชุม กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการกำกับดูแลกิจการที่ดี จัดสรรเวลาอย่างเพียงพอและส่งเสริมให้กรรมการทุกท่านมีส่วนร่วมในการอภิปราย ใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบและแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ
  • กำกับดูแลให้มั่นใจว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการชุดย่อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการ
  • เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรรมการที่เป็นผู้บริหารและกรรมการที่มิใช่ผู้บริหาร และระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายจัดการ
  • ดูแลให้มั่นใจว่า กรรมการทุกคนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่มีจริยธรรม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี

5.1.5 บทบาทหน้าที่ของประธานกรรมการบริหาร / กรรมการผู้จัดการ

  • รับผิดชอบการดำเนินธุรกิจอันเป็นกิจวัตรประจำวันของบริษัทฯ กำกับดูแลและบริหารจัดการงานในด้านต่างๆ ของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามนโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม กลยุทธ์ และเป้าหมายการดำเนินงานทั้งในด้านการเงินและมิใช่การเงิน ตลอดจนขับเคลื่อนแผนธุรกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ
  • มีอำนาจในการว่าจ้าง แต่งตั้ง โยกย้าย ปลดออก และเลิกจ้าง พนักงานทุกระดับของบริษัทฯ ยกเว้น การแต่งตั้ง โยกย้าย หรือเลิกจ้างหัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภายในกลุ่มบริษัท จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการด้วย
  • กำหนดเงินเดือนและค่าตอบแทน ปรับขึ้นเงินเดือน โบนัส บำเหน็จรางวัล และสวัสดิการของพนักงานทุกระดับของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงผู้บริหารระดับสูง โดยให้เป็นไปตามระบบกลไกการจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
  • ออกคำสั่ง นโยบาย ระเบียบ ประกาศ และบันทึกต่างๆ ภายในบริษัทฯ เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นไปตามนโยบายและเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทฯ รวมถึงรักษาระเบียบวินัยภายในองค์กร
  • ดำเนินการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทฯ และดำเนินการใดๆ ตามที่กฎหมายหรือข้อบังคับของหน่วยงานกำกับกำหนด

5.1.6 การรวมหรือแยกตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร

นายโฮ กวงปิง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นทั้งประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหารของบริษัทฯ และมีส่วนร่วมในความสำเร็จของกลุ่มบริษัทฯ อย่างใกล้ชิด โครงสร้างดังกล่าวยังเป็นโครงสร้างที่มีการถ่วงดุลและการสอบทานการบริหารงานที่เหมาะสม เนื่องจากโครงสร้างคณะกรรมการของบริษัทฯ ประกอบด้วยกรรมการที่มิใช่ผู้บริหารจำนวนกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีความเห็นว่า โครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นมีความเหมาะสมและเพียงพอที่ นายโฮ กวงปิง จะรับผิดชอบงานทั้งในตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มความสามารถ

เพื่อส่งเสริมให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจระหว่างคณะกรรมการบริษัทฯ และฝ่ายจัดการ ก่อนการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ และประธานคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ซึ่งเป็นกรรมการอิสระ ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณากำหนดวาระการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ

5.1.7 การแบ่งแยกอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการบริษัทฯ และฝ่ายจัดการ

บริษัทฯ มีโครงสร้างการจัดการที่แบ่งแยกอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการบริษัทฯ และฝ่ายจัดการอย่างชัดเจน โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ในฐานะผู้กำกับดูแลเชิงนโยบายมีหน้าที่ในการกำหนด วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม กลยุทธ์ และเป้าหมายระยะยาวของบริษัทฯ ตลอดจนกำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหาร โดยฝ่ายจัดการในฐานะผู้บริหารงาน มีหน้าที่ในการปฏิบัติงานประจำวันให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุผล และเป็นไปตามนโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม กลยุทธ์ และเป้าหมายระยะยาวที่กำหนดไว้ และรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้จัดให้มีการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการบริษัทฯ และฝ่ายจัดการที่ชัดเจน การลงทุนที่สำคัญต่างๆ การได้มาซึ่งสินทรัพย์ และการกู้เงิน โดยบริษัทฯและ/หรือบริษัทย่อยของบริษัทฯ จะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ ดังนี้

  • การลงทุน และการได้มาซึ่งสินทรัพย์ที่มีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละ 1.5 ของสินทรัพย์รวมของบริษัทฯ
  • การกู้เงินที่มีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละ 5 ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ

ทั้งนี้ ในการอนุมัติการเข้าทำรายการที่สำคัญต่างๆ โดยที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ และ/หรือ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์ฯ และ/หรือ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทฯ ได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “โครงสร้าง การจัดการ” ในแบบ 56-1 และในรายงานประจำปีของบริษัทฯ

5.2 คณะกรรมการชุดย่อย

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อย ซึ่งประกอบด้วยกรรมการอิสระทั้งหมดจำนวน 2 คณะ เพื่อช่วยกลั่นกรองรายละเอียดอันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของคณะกรรมการบริษัทฯ นอกจากนั้น เพื่อความโปร่งใสและความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ประธานคณะกรรมการบริษัทฯ มิได้เป็นประธานหรือสมาชิกในคณะกรรมการชุดย่อยทั้ง 2 คณะ ดังกล่าว ดังนี้

5.2.1 คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ

คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 3 ท่าน ซึ่งเป็นกรรมการอิสระทั้งหมด โดยมีสมาชิกจำนวน 1 ท่าน เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงิน โดยมีประสบการณ์การสอบทานงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนบางบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ รายชื่อและรายละเอียดภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “โครงสร้างการจัดการ” ในแบบ 56-1 และในรายงานประจำปีของบริษัทฯ

5.2.2   คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน

คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 3 ท่าน ซึ่งเป็นกรรมการอิสระทั้งหมด ทำให้มีความแข็งแกร่งและความเป็นอิสระในการวินิจฉัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสรรหากรรมการและกำหนดค่าตอบแทน ทั้งนี้ รายชื่อและรายละเอียดภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “โครงสร้างการจัดการ” ในแบบ 56-1 และในรายงานประจำปีของบริษัทฯ

5.3 บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

5.3.1  นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

บริษัทฯ มีเจตนารมย์มุ่งมั่นในอันที่จะรักษาและคงไว้ซึ่งมาตรฐานระดับสูงของการกำกับดูแลกิจการที่ดีในบริษัทฯ โดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งได้กำหนดนโยบายกำกับดูแลกิจการ และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (Code of Corporate Conduct) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ และได้ประชาสัมพันธ์ทั่วทั้งองค์กรให้เป็นที่เข้าใจมาใช้และถือปฏิบัติเรื่อยมา อีกทั้งยังได้จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานและการดำเนินงาน (Standard Operating Procedures) เพื่อใช้ควบคุมการปฏิบัติงานและการดำเนินการภายในองค์กร นอกจากนั้น คณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้อนุมัติและประกาศใช้กฎและระเบียบภายในใหม่ๆ เป็นระยะๆ โดยมุ่งพัฒนาปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง

ในปีที่ผ่านมา ไม่มีกรรมการลาออกอันเนื่องมาจากประเด็นเรื่องการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ และไม่มีการกระทำอันก่อให้เกิดชื่อเสียงในทางลบของบริษัทฯ อันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการทำหน้าที่สอดส่องดูแลของคณะกรรมการแต่อย่างใด

5.3.2  จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (Code of Corporate Conduct)

คณะกรรมการของบริษัทฯ ได้อนุมัติจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (Code of Corporate Conduct) เพื่อกำหนดกรอบให้เจ้าหน้าที่ กรรมการบริหาร พนักงาน และตัวแทนของบริษัทฯ ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตนเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ เท่านั้น โดยไม่เข้าทำธุรกรรมใดที่จะเป็นเหตุให้ หรือมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างตนเองกับโรงแรมในกลุ่มบริษัทฯ บริษัทฯ/บริษัทย่อยในกลุ่มบริษัทฯ บริษัทแม่ และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจนี้ได้แจกจ่ายและประชาสัมพันธ์ทั่วทั้งองค์กรให้เป็นที่เข้าใจและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด จรรยาบรรณดังกล่าวได้ร่างขึ้นโดยยึดถือหลักการปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมทางธุรกิจในระดับที่สูงสุดและเป็นไปตามกฎหมาย และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ ได้กำหนดให้พนักงานทุกคนลงนามรับทราบและปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เป็นประจำทุกปี

ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัทฯ ไม่พบว่ามีการร้องเรียนหรือกล่าวอ้างว่าได้มีการปฏิบัติผิดจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ แต่อย่างใด

5.3.3  การวางแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ และการนำไปปฏิบัติ

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้จัดสรรเวลาอย่างเพียงพอในแต่ละปีเพื่อทบทวนและอภิปรายงบประมาณของ ปีถัดไปและแผนกลยุทธ์ล่วงหน้า 5 ปี  ระหว่างการดำเนินงานในแต่ปีคณะกรรมการบริษัทฯ จะได้รับทราบถึงการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์เป็นระยะๆ  หากมีเหตุที่ทำให้แผนกลยุทธ์ไม่เป็นไปตามที่วางไว้ จะมีการหารือเกี่ยวกับแนวทางใหม่ในการดำเนินการภายหลังจากที่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทางการเงิน และทางการตลาดแล้ว

5.3.4  ภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์

คณะกรรมการบริษัทฯ เป็นผู้กำหนดพันธกิจ วิสัยทัศน์ นโยบาย และยุทธศาสตร์โดยรวมของกลุ่มบริษัทฯ รวมทั้งดูแลการบริหารจัดการธุรกิจในกลุ่มบริษัทฯ อย่างมีประสิทธิผล ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ จะทบทวนพันธกิจ และวิสัยทัศน์ เป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นแนวทางและยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการธุรกิจในกลุ่มบริษัทฯ ในแต่ละปี

5.3.5 ความขัดแย้งทางผลประโยชน์

ธุรกรรมระหว่างบริษัทฯ กับบุคคลใดที่อาจมีความขัดแย้งอันอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งทางผลประโยชน์จะต้องผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนโดยคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ และหากจำเป็น การเข้าทำธุรกรรมนั้น ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ และ/หรือ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทฯ ท่านใดที่มีส่วนได้เสียหรือมีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่เข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจธุรกรรมดังกล่าว

ทั้งนี้ ธุรกรรมดังกล่าวกระทำขึ้นภายใต้เงื่อนไขและราคาซึ่งได้มีการเจรจากันบนพื้นฐานเสมือนหนึ่งกระทำโดยบุคคลที่ไม่มีความขัดแย้ง โดยอาศัยหลักการตลาดเสรีระหว่างคู่สัญญา และในกรณีที่ไม่สามารถกำหนดราคาได้ บริษัทฯ จะอ้างอิงตามรายงานของผู้ประเมินราคาอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทฯ เพื่อกำหนดราคาที่เป็นธรรมทั้งสำหรับบริษัทฯ และบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง

การทำธุรกรรมกับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งทุกรายการ จะได้รับการเปิดเผยอย่างชัดเจนและถูกต้อง รายละเอียดได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “รายการระหว่างกัน” ในแบบ 56-1 และภายใต้หัวข้อ “บุคคลที่อาจมีความขัดแย้งและรายการระหว่างกัน” ในรายงานประจำปีของบริษัทฯ

5.3.6 ระบบการควบคุมและการตรวจสอบภายใน

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิผล ดังจะเห็นได้จากมาตรฐาน การปฏิบัติงานและการดำเนินงาน (Standard Operating Procedures) โดยเฉพาะด้านการจัดการและ การดำเนินการ ซึ่งได้มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานและฝ่ายจัดการไว้อย่างชัดเจน บริษัทฯ ได้มีการจัดทำนโยบายการดูแลและป้องกันทรัพย์สินของบริษัทฯ ขึ้นและมีการแบ่งแยกหน้าที่กันระหว่างผู้ปฏิบัติงานและผู้ติดตามประเมินผลออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลกันอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจัดให้มีการตรวจสอบภายในทางด้านระบบการเงินและระบบสารสนเทศด้วย

การตรวจสอบภายใน

ฝ่ายตรวจสอบภายในเป็นหน่วยงานอิสระซึ่งรายงานโดยตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจสอบ และรายงานต่อกรรมการผู้จัดการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานทั่วไป การตรวจสอบภายในช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการและฝ่ายจัดการในการกำกับดูแลกิจการ รวมทั้งปรับปรุง และเพิ่มความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในกระบวนการทางธุรกิจภายในกลุ่มบริษัทฯ ผู้ตรวจสอบภายในวางแผนตารางการตรวจสอบ ในแต่ละปีโดยปรึกษากับฝ่ายจัดการ แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระในการวางแผนตารางการตรวจสอบ คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการเป็นผู้พิจารณาและอนุมัติแผนตารางการตรวจสอบ รวมทั้งสอบทานกิจกรรมของผู้ตรวจสอบภายในเป็นรายไตรมาสเพื่อให้มั่นใจได้ว่าฝ่ายตรวจสอบภายในมีทรัพยากรในการตรวจสอบอย่างเพียงพอและอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิผล

การบริหารจัดการความเสี่ยงองค์กรโดยรวม (Enterprise Risk Management)

บริษัทฯ ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาภายนอกเพื่อช่วยเหลือฝ่ายจัดการในการกำหนดกรอบการบริหารจัดการความเสี่ยงของธุรกิจบริษัทฯ โดยกรอบ การบริหารจัดการความเสี่ยงได้ครอบคลุมถึงประเด็นการดำเนินธุรกิจ ทั้งปวงของบริษัทฯ เพื่อให้สามารถระบุ ประเมิน ดูแล จัดการ และประเมินผลความเสี่ยงของธุรกิจภายใต้สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบัน ที่มีนัยสำคัญได้ ในกระบวนการบริหารความเสี่ยงซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องนั้น คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทฯ ได้ทำการประเมินความเสี่ยงและ วางแนวปฏิบัติการแก้ไข รวมทั้งได้พิจารณา นำระบบการควบคุมภายในที่มีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพมาใช้อย่างเพียงพอในทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงของธุรกิจที่มีนัยสำคัญ โดยร่วมกับคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ สอบทานการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการได้สอบทานกระบวนการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทฯ และมีความพึงพอใจว่าได้มีการควบคุมภายในที่เหมาะสมและเพียงพอ ในอันที่จะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญตามที่ระบุไว้ได้

5.3.7 การประชุมของคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการชุดย่อย

1. คณะกรรมการบริษัทฯ
บริษัทฯ จัดการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 4 ครั้งในแต่ละปี เป็นรายไตรมาส ซึ่งได้มีการกำหนดและแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในช่วงไตรมาสที่ 4 ก่อนเริ่มงวดปีบัญชีใหม่ และจัดส่งเอกสารการประชุมให้แก่กรรมการล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 5 วัน สำหรับการประชุมพิเศษจะจัดขึ้นตามความจำเป็น ในปี 2562 บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ 5 ครั้ง โดยมีการเข้าร่วมประชุมของกรรมการทุกท่านดังนี้

รายชื่อ

จำนวนครั้งที่เข้าร่วมประชุม
นายโฮ กวงปิง

5

นายวุฒิพล สุริยาภิวัฒน์

5

ดร. ชิงชัย หาญเจนลักษณ์

5

นายธงชัย อานันโทไทย

5

นางสาวศรินธร อุนยโกวิท

5

นายสุรพล สุปรัชญา

5

นายโฮ กวงจิง

5

นายเอเรียล พี วีร่า

5

นายเอ็ดดี้ ซี ฮอก ไล

5

นายโฮ เรน ฮวา

4

นายชานคราร์ ชานดราน

5

นายสจ๊วต เดวิด เรดดิ้ง

5

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ มีความเห็นว่า การอุทิศตนให้แก่บริษัทฯ ของกรรมการแต่ละท่านนั้น ไม่ควรมุ่งเน้นเพียงการใช้เวลาเข้าร่วมการประชุมเท่านั้น แต่ควรจะรวมไปถึงผ่านทางการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น คำแนะนำ ประสบการณ์ และเครือข่ายความสัมพันธ์ เพื่อยังประโยชน์เพิ่มขึ้นแก่ธุรกิจของบริษัทฯ

2. คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ

บริษัทฯ จัดการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการอย่างสม่ำเสมอก่อนการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อย่างน้อย 4 ครั้งในแต่ละปี เป็นรายไตรมาส ซึ่งได้มีการกำหนดและแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในช่วงไตรมาสที่ 4 ก่อนเริ่มงวดปีบัญชีใหม่ สำหรับการประชุมพิเศษจะจัดขึ้นตาม ความจำเป็น ในปี 2562 บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ 4 ครั้ง โดยมีการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการทุกท่าน ดังนี้

 

รายชื่อ

จำนวนครั้งที่เข้าร่วมประชุม

นายวุฒิพล สุริยาภิวัฒน์

4

ดร. ชิงชัย หาญเจนลักษณ์

4

นายธงชัย อานันโทไทย

4

นอกจากนี้ ในปี 2562 คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการได้เข้าร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วย 1 ครั้ง เพื่อพิจารณาแนวทางและแผนการสอบบัญชี

3. คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน

บริษัทฯ จัดการประชุมคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนอย่างสม่ำเสมอก่อนการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ซึ่งได้มีการกำหนดและแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในช่วง ไตรมาสที่ 4 ก่อนเริ่มงวดปีบัญชีใหม่ สำหรับการประชุมพิเศษจะจัดขึ้นตามความจำเป็น ในปี 2562 บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน 2 ครั้ง โดยมีการเข้าร่วมประชุมของกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนทุกท่าน ดังนี้

รายชื่อ

จำนวนครั้งที่เข้าร่วมประชุม

ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์

2

นายวุฒิพล สุริยาภิวัฒน์

2

นายธงชัย อานันโทไทย

2

ทั้งนี้ บริษัทฯ ส่งเสริมให้ขณะที่คณะกรรมการบริษัทฯ และ/หรือ คณะกรรมการชุดย่อยจะลงมติ ควรมีกรรมการอยู่เป็นองค์ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด

5.3.8 การประชุมของกรรมการที่มิได้เป็นผู้บริหาร

บริษัทฯ กำหนดให้กรรมการที่มิใช่ผู้บริหารมีการประชุมกับผู้สอบบัญชีภายนอกตามความเหมาะสม โดย ไม่มีกรรมการที่เป็นผู้บริหารหรือฝ่ายจัดการเข้าร่วมในการประชุม เพื่อเปิดโอกาสให้สอบทานและปรึกษาปัญหาต่างๆ ได้อย่างอิสระ ทั้งที่เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทฯ หรือเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจ โดยในปี 2562 ได้มีการประชุมของกรรมการที่มิได้เป็นผู้บริหารในเดือนพฤศจิกายนรวม 1 ครั้ง

5.3.9 รายงานของคณะกรรมการ

1. รายงานทางการเงิน
คณะกรรมการบริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นในงบการเงินของบริษัทฯ ตลอดจนสารสนเทศทางการเงินที่ปรากฏในรายงานประจำปี คณะกรรมการบริษัทฯ มีความพึงพอใจว่างบการเงิน ของบริษัทฯ ถูกจัดทำขึ้นอย่างรอบคอบตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป โดยมีผู้สอบบัญชี ทำการสอบทานงบการเงินรายไตรมาสทุกไตรมาส รวมทั้งตรวจสอบงวดปีอย่างครบถ้วน ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการยังได้ทำหน้าที่สอบทานรายงานทางการเงิน และการควบคุมภายในโดยตรงอย่างเป็นอิสระร่วมกับผู้สอบบัญชี ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับงบการเงินถูกเปิดเผยอย่างชัดเจน และครบถ้วนในหมายเหตุประกอบ งบการเงิน

รายละเอียดได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “การควบคุมภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยง” ของแบบ 56-1 และภายใต้หัวข้อ “ความเห็นของคณะกรรมการเกี่ยวกับระบบควบคุมภายในของบริษัทฯ” และ “ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทฯ ต่อรายงานทางการเงิน” ของรายงานประจำปีของบริษัทฯ

2. รายงานการประชุม

รายงานการประชุมของคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ ได้ถูกบันทึก ให้ครอบคลุมสาระสำคัญต่างๆ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน โดยใส่ข้อคิดเห็น ประเด็นซักถามต่างๆ ของกรรมการไว้อย่างชัดเจน และมีระบบจัดเก็บรายงานการประชุม พร้อมทั้งเอกสารประกอบการประชุมต่างๆ อย่างดีและปลอดภัย

5.3.10 การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร

บริษัทฯ ส่งเสริม สนับสนุนให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ได้มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยผ่าน การเข้าร่วมการสัมมนาและอบรมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการ บริษัทไทย ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. เป็นต้น โดยบริษัทฯ ได้จัดส่งเอกสารการสัมมนาและอบรม ให้เป็นระยะๆ นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กรรมการเพื่อให้ได้รับทราบข้อมูล ที่ทันต่อเหตุการณ์และใช้ประกอบในการตัดสินใจ โดยในปี 2562 นางนันชลี เขจรนันทน์ เลขานุการบริษัท และผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารงานองค์กร ได้เข้าร่วมสัมมนา CGR Workshop หัวข้อ “Enhancing Good Corporate Governance based on CGR Scorecard” จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

สำหรับประวัติการฝึกอบรมของกรรมการ รายละเอียดได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ“เอกสารแนบ 1” ของแบบ 56-1 และ หัวข้อ “คณะกรรมการบริษัทฯ คณะผู้บริหาร หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบภายในกลุ่มบริษัท และเลขานุการของบริษัทฯ” ของรายงานประจำปีของบริษัทฯ

5.3.11 การปฐมนิเทศกรรมการเข้าใหม่

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการใหม่ จึงได้จัดข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทฯ รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เช่น รายงานประจำปี และกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับกรรมการใหม่ เพื่อที่กรรมการใหม่จะได้รับทราบถึงข้อบังคับ กฎระเบียบ และข้อมูลที่เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทฯ อย่างเพียงพอก่อนปฏิบัติหน้าที่

5.3.12 การกำหนดจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่กรรมการบริษัทฯ ไปดำรงตำแหน่งกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายการจำกัดจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่กรรมการบริษัทฯ แต่ละท่าน ไปดำรงตำแหน่งกรรมการ เพื่อให้บริษัทฯ ได้รับประโยชน์สูงสุดในการที่กรรมการบริษัทฯ สามารถอุทิศเวลาสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้กำหนดนโยบายให้กรรมการแต่ละท่านดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนอื่นได้รวมไม่เกิน 5 บริษัท

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแนวปฏิบัติในกรณีประธานกรรมการบริหารจะเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการใน บริษัทอื่นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารทั้งหมดจะต้องได้รับการอนุมัติจากหัวหน้างานระดับผู้อำนวยการอาวุโสขึ้นไป (Senior Vice President) ตามสายงาน ในกรณีที่ได้รับการอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทำให้เกิดความไม่เหมาะสมที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารนั้นๆ ไปดำรงตำแหน่งกรรมการ ในบริษัทอื่น ถือเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และต้องได้รับการอนุมัติใหม่อีกครั้งตามขั้นตอนที่กำหนด

5.3.13 การสรรหากรรมการ

คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะทำหน้าที่ในการสรรหากรรมการใหม่ โดยจะสรรหาบุคคลเพื่อเสนอชื่อให้คณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาแต่งตั้ง หรือเพื่อเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาเลือกตั้ง (แล้วแต่กรณี) โดยหลักเกณฑ์ในการสรรหากรรมการใหม่จะคำนึงถึงโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทฯ ซึ่งจะประกอบด้วยกรรมการในจำนวนที่เหมาะสมกับขนาดและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ความหลากหลายในโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทฯ (Board Diversity) ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง เชื้อชาติ ศาสนา ถิ่นกำเนิด และเพศ เป็นต้น ความเหมาะสมของคุณสมบัติ และทักษะของกรรมการที่จำเป็นและยังขาดอยู่ในคณะกรรมการบริษัทฯ โดยการจัดทำ Board Skill Matrix เพื่อกำหนดคุณสมบัติของกรรมการที่ต้องการสรรหา รายละเอียดการแต่งตั้งกรรมการได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “วิธีการแต่งตั้งกรรมการและการถอดถอนกรรมการตามที่กำหนดในข้อบังคับของบริษัทฯ”

5.3.14 กระบวนการสรรหา

คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะพิจารณาสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทฯ จากการแนะนำของกรรมการอื่นในบริษัทฯ การเสนอชื่อโดยผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ การสรรหาโดยที่ปรึกษาภายนอก (Professional Search Firm) หรือ การสรรหาจากฐานข้อมูลกรรมการ (Director Pool) ของหน่วยงานต่างๆ หรือการสรรหาโดยกระบวนการอื่นๆ ที่คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนเห็นสมควรและเหมาะสม

5.3.15 แผนสืบทอดตำแหน่ง

คณะกรรมการบริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนการดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง อันจะนำมาซึ่งการเติบโตและความก้าวหน้าขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้บริษัทฯ จัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งของตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอื่นๆ และให้มีการพิจารณาทบทวนทุก 3 ปี เพื่อให้มั่นใจว่ามีผู้บริหารระดับสูงที่มีความรู้ความสามารถในการสืบทอดตำแหน่งที่สำคัญขององค์กรต่อไปในอนาคต

5.3.16 การประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ

เพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทฯ จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้คณะกรรมการร่วมกันพิจารณาผลงานและปรับปรุงแก้ไข โดยได้นำแบบประเมินผลการปฏิบัติงานตนเองของคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการชุดย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ และครอบคลุมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย

1. แบบประเมินตนเองของคณะกรรมการบริษัท เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการทั้งคณะ
2. แบบประเมินตนเองของคณะกรรมการชุดย่อยทั้งคณะ ซึ่งประกอบด้วย
2.1 คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ
2.2 คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน

โดยเลขานุการบริษัทจะจัดส่งแบบประเมินให้คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อยในทุกสิ้นปี เพื่อประเมินผลงานประจำปี และเป็นผู้รวบรวม สรุปผลการประเมิน และรายงานให้คณะกรรมการบริษัทฯ และ/หรือคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะรับทราบต่อไป

แบบประเมินตนเองของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย มีหัวข้อพิจารณาหลักในการประเมินระดับคะแนนความคิดเห็น หรือระดับการดำเนินการ ได้แก่

  • โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการ
  • บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
  • การประชุมคณะกรรมการ
  • การทำหน้าที่ของกรรมการ
  • ความสัมพันธ์กับฝ่ายจัดการ
  • การพัฒนาตนเองของกรรมการและการพัฒนาผู้บริหาร

แบบประเมินผลการปฏิบัติงานทั้ง 3 คณะ มีเกณฑ์ในการประเมินผล คิดเป็นร้อยละจากคะแนนเต็มในแต่ละข้อทั้งหมด ดังนี้

ตั้งแต่ 85% = ดีเยี่ยม
ตั้งแต่ 75% = ดีมาก
ตั้งแต่ 65% = ดี
ตั้งแต่ 50% = พอใช้
ต่ำกว่า 50% = ควรปรับปรุง

ภาพรวมผลการประเมินปี 2562 ของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะ (แบบทั้งคณะ) เป็นดังนี้

1. คณะกรรมการบริษัท มีคะแนนผลการประเมินโดยรวมเฉลี่ยร้อยละ 90 อยู่ในเกณฑ์ ดีเยี่ยม
2. คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ มีคะแนนผลการประเมินโดยรวมเฉลี่ยร้อยละ 98 อยู่ในเกณฑ์ ดีเยี่ยม
3. คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน มีคะแนนผลการประเมินโดยรวมเฉลี่ยร้อยละ 95 อยู่ ในเกณฑ์ดีเยี่ยม

การกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม

ในการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม บริษัทฯ จะส่งกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทฯ ไปเป็นกรรมการในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมของบริษัทฯ อย่างน้อยตามสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อเป็นตัวแทนของบริษัทฯ ในการกำหนดนโยบายและดำเนินธุรกิจในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมให้มีความสอดคล้องกับนโยบายหลักของบริษัทฯ การส่งตัวแทนของบริษัทฯ เพื่อเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมนั้น เป็นขอบเขตอำนาจของฝ่ายจัดการ กรรมการหรือผู้บริหารที่เป็นตัวแทนบริษัทฯ สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ เพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และรายงานตรงต่อฝ่ายจัดการในการพิจารณาทำธุรกรรมใดๆ ของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจหรือฐานะการเงินของบริษัทฯ ได้กำหนดให้การทำธุรกรรมดังกล่าวต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัทฯ ทุกครั้ง

บริษัทฯ ส่งเสริมให้บริษัทย่อยและบริษัทร่วมนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาปฏิบัติ และดูแลให้บริษัทย่อยและบริษัทร่วมปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานกำกับดูแล ได้แก่ รายการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ การทำรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ บริษัทย่อยและบริษัทร่วม ดูแลให้มีการจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมาตรฐานการบัญชี รวมทั้งจัดให้มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานตรวจสอบภายในเพื่อให้มั่นใจว่ามีการควบคุมภายในอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ

การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน

เพื่อเป็นการป้องกันการใช้ข้อมูลที่เป็นความลับและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ไปในทางที่ไม่ถูกต้องนั้น คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัตินโยบายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งห้ามมิให้กรรมการ ฝ่ายจัดการ และพนักงานของบริษัทฯ ทุกท่านทุกระดับตำแหน่งเปิดเผยหรือใช้ข้อมูลที่เป็นความลับและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือเหตุผลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบริษัทฯ หรือทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในขณะที่ยังครอบครองข้อมูลภายในที่เป็นความลับ และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ที่ยังมิได้เปิดเผยแก่สาธารณชน พนักงานถูกห้ามมิให้ซื้อขายหุ้นบริษัทฯ ตลอดระยะเวลาปลอดการใช้ข้อมูลภายในที่ยังมิได้เปิดเผยแก่สาธารณชน (Embargo Period) ซึ่งหมายถึง ระยะเวลา 2 สัปดาห์ก่อนและจนถึงวันประกาศผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทฯ ในแต่ละไตรมาสของ 3 ไตรมาสแรก และระยะเวลา 1 เดือนก่อนและจนถึงวันประกาศผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทฯ ประจำปี โดยได้เผยแพร่นโยบายและเตือนระยะเวลาปลอดการใช้ข้อมูลภายในที่ยังมิได้เปิดเผยแก่สาธารณชน (Embargo Period) ให้คณะกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหารระดับสูง และพนักงานทุกระดับของบริษัทฯ ทราบเป็นรายปีและรายไตรมาส เพื่อให้ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวโดยเคร่งครัด ข้อมูลที่เป็นความลับและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ จะถูกจำกัดอยู่แต่เฉพาะกับกรรมการ ฝ่ายจัดการ และพนักงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเท่านั้น การฝ่าฝืนการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวมีโทษทางวินัยตามระเบียบการปฏิบัติงาน นอกเหนือจากนโยบายดังกล่าว บริษัทฯ ยังได้จัดให้มีการควบคุมดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ โดยกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ต่อคณะกรรมการบริษัทฯ เป็นรายไตรมาส และให้เป็นไปตามกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี

(สำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562)

ค่าสอบบัญชี

บริษัทฯ และบริษัทย่อยจ่ายค่าสอบบัญชีให้สำนักงานสอบบัญชี สำหรับรอบปีบัญชีเป็นจำนวนเงิน 8,715,000 บาท บริษัทย่อยมีการจ่ายค่าสอบบัญชีให้สำนักงานสอบบัญชีรายอื่นเป็นจำนวนเงิน 846,882 บาท โดยจำนวนนี้ไม่รวมค่าสอบบัญชีที่จ่ายโดยบริษัทร่วม

ค่าบริการอื่น

บริษัทฯ และบริษัทย่อยไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนของงานบริการอื่นสำหรับการตรวจสอบตามวิธีที่ตกลงร่วมกันของบัญชียอดขายสุทธิและค่าปรึกษาอื่นๆ ให้สำนักงานสอบบัญชีรายอื่นสำหรับรอบปีบัญชี และไม่มีภาระจะต้องจ่ายในอนาคตอันเกิดจากการตกลงที่ยังให้บริการไม่แล้วเสร็จในรอบปีบัญชี 2562